เช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ของชาวเมืองทั่วไป หลายคนอาจเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับสัปดาห์ใหม่ที่จะมาถึง แต่สำหรับย่านกุฎีจีนชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าตากถือเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ ที่ต้องเดินทางเข้าประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ส่วนร้านค้าต่างขะมักเขม้นเตรียมตัวรอต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเข้ามาชมชิมรวมถึงเสพวิถีชีวิตคนกุฎีจีน
เท้าความถึงพื้นเพของชุมชนกุฎีจีน เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตกครั้งที่ 2 และได้ทำความดีความชอบช่วยพระเจ้าตากสินสร้างบ้านแปงเมือง พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างโบสถ์ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและพบปะพูดคุย แม้ผ่านการเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาหลายชั่วอายุคน แต่มีสิ่งที่บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์นั้นยังคงเช่นเดิม โบสถ์ ขนม และประวัติศาสตร์กลับดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมกุฎีจีนไม่ขาดสาย
ส่วนการเดินทางสู่ชุมชนนี้ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอาจจะอาศัยทางน้ำหรือทางบกก็ได้ทั้งสองทาง แต่การโดยสารทางเรือนั้นดูจะได้บรรยากาศการท่องเที่ยววิถีไทยมากกว่า เมื่อขึ้นที่ท่าน้ำยอดพิมานแล้วต่อเรือข้ามฟากจากนั้นเดินเลียบริมน้ำอีกหน่อยก็ถึง ส่วนทางบกมีรถเมล์สาย 6 ผ่าน สามารถลงป้ายใต้สะพานพุทธต่อด้วยเดินเรียบริมน้ำก็ถึงที่หมาย
อาคารหลังงามตั้งตระหง่านริมน้ำประดับตกแต่งตามแบบศิลปะ นีโอคลาสสิกและเรเนอซองซ์ ด้านหน้าหันเข้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของคนกรุงเทพ ฯ ใช้เป็นเส้นทางสัญจร ยอดอาคารทรงโดมแปดเหลี่ยมประดับกางเขนไว้บนยอดสุดของอาคาร เพื่อประกาศให้ชาวบ้านทราบว่า ที่แห่งนี้คือที่ตั้งของ “โบสถ์ซางตาครู้ส” แปลความภาษาไทยได้ว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ โบสถ์แห่งนี้มักจะเปิดในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและวันอาทิตย์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ภายในตกแต่งด้วยกระจกสีที่เล่าเรื่องราวจากพระคัมภีร์ มีพระแท่นอยู่ด้านหน้าไว้ให้บาทหลวงประกอบพิธี ภาพรวมดูสวยงามน่าชม สำหรับหลังปัจจุบันที่เห็นทุกวันนี้ เป็นหลังที่สาม ส่วนหลังก่อนถูกพิษสงครามโลกครั้งที่สองทำลายไป
ในช่วงว่างเว้นจากพิธีบางครั้งยังพอมีเวลาให้เราเข้าไปเยี่ยมมองความงามและดื่มด่ำกับบรรยากาศอันเงียบสงบ ชวนให้จิตใจของผู้มาเยือนเย็นไปตามบรรยากาศภายในโบสถ์ กลายเป็นมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่หาดูยากในนครหลวงที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เปรียบเหมือนแดนสวรรค์ที่เข้าถึงได้เพียงก้าวข้ามธรณีประตูเข้ามา
เดินตามตรอกตามฉบับผู้ดีเก่าไปราว 500-600 เมตร จะแลเห็นป้ายสี่เหลี่ยมประดับรูปไก่สีขาวด้านล่างติดชื่อพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน พิพิธภัณฑ์เอกชนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดหาวางตกแต่ง และด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชุมชน ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ
พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะอยู่ในชั้นที่สองเป็นเรื่องราวการเดินทางรวมถึงความสัมพันธ์ของโปรตุเกสและสยาม ทั้งในแง่มุมศาสนาและการค้า จัดเรียงเรื่องราวไว้สวยงามเข้าใจง่ายแถมมีลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ ที่เรียกความตื่นตาตื่นใจไว้ให้ผู้มาเยือนได้สนุกรวมถึงส่งต่อความรู้สึกให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความทุ่มเทและความตั้งใจ
ส่วนที่สองขึ้นไปชั้นสามเป็นที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนรวมไปถึงของใช้ของคุณยายโวเล็ก เจ้าของบ้านที่จัดพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ทั้งตั่งเตียงไม้ นาฬิกาไขลานหัวม้าและเครื่องใช้อื่นๆ ที่คนสมัยก่อนใช้ในชีวิตประจำวัน ไฮไลต์สำคัญที่ไม่ควรพลาดอย่าง ตุ๊กตาหนูเลี๊ยบ ของเล่นมหานิยมย่านกุฎีจีน หนึ่งในกุศโลบายที่ผู้ใหญ่ในชุมชนใช้เป็นเครื่องสอนใจให้เด็กๆ กลับบ้านตรงเวลาหลังจากวัดตีระฆังบอกโมงยามก่อนที่ตะวันจะลับขอบฟ้า
ภายในพิพิธภัณฑ์เอกชนมีของที่ระลึกทั้งโปสการ์ด กระเป๋าและของที่ระลึกวางเรียบรายให้เลือกซื้อเพื่อสนับสนุนให้ที่แห่งนี้อยู่คู่คนไทย นอกจากนี้ยังมีโซนร้านคาเฟ่ให้ผู้มาเยือนได้นั่งพักด้วย
โดยเมนูชูโรงที่ทางร้านแนะนำให้ผู้มาเยือนได้ชิมชมกันสักครั้ง “ขนมปังสัพพแหยก” ของว่างชื่อดังที่มีหมูสับละเอียดเคี้ยวง่ายผ่านการปรุงด้วยเครื่องเทศคล้ายกะหรี่พัพแต่รสชาติจะอ่อนนุ่มละมุนนุ่มลิ้นกว่า ประดับบนขนมปังส่งกลิ่นหอมชวนรัญจวนใจวางคู่กันสองชิ้นขนาดพอดีคำ รสชาติจัดจ้านจากเครื่องเทศเล็กน้อยแต่เมื่อปะทะกับขนมปังจืดแล้วช่วยให้รสชาติโดยรวมออกมากลมกล่อมเรียกน้ำย่อยให้ผู้ทานได้ลองเพิ่มเติม ถือว่าเป็นเมนูที่ใครมาแล้วไม่ควรพลาด
ศาลเจ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นคราวแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนจะมีการบูรณะขึ้นใหม่และอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานพร้อมกับตั้งชื่อว่า ศาลเจ้ากวนอันเก๋ง เมื่อเดินจากริมน้ำเข้าสู่อาคารศาลเจ้าจะพบส่วนสำคัญคือเครื่องประดับลายไม้ต่างๆซึ่งเป็นของดั้งเดิม ด้านบนประดับงานแกะสลักไม้แบบลอยตัว จะเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าต่างๆสวยงามน่าชม ซึ่งในปัจจุบันหาดูได้ยากแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ชมด้านหน้าเสร็จเดินเข้าประตูสักการะบูชาเจ้าแม่กวนอิมและชื่นชมการตกแต่งภายในแบบจีน
เที่ยวชมชุมชนชาวกุฎีจีนแล้วอย่าพลาดซื้อของฝากสวยๆเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครหรือจะซื้อขนมกุฎีจีนฝากคนที่บ้าน เชื่อหรือไม่ว่าฝั่งธนบุรียังมีวิถีชาวบ้านร้านตลาดที่ลองให้นักเที่ยวแวะชม แวะชิมกันอีกเยอะ ลองออกมาค้นหาแล้วคุณจะรัก